หากได้เดินทางท่องไปในเมืองเวนิส ไม่แน่ว่าคุณอาจได้เดินผ่านผลงานล้ำค่าทางสถาปัตยกรรมโดยไม่รู้ตัว เพราะ Carlo Scarpa สถาปนิกชาวอิตาลีผู้มีอิทธิพลอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 20 มีผลงานในจุดต่าง ๆ ทั่วเมืองเวนิสและใกล้เคียงอยู่มากมาย ผลงานของเขาซึ่งเป็นผลผลิตจากหลากหลายอิทธิพล ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบศิลปะและสถาปัตยกรรมจากสมัย Byzantine กระแสความล้ำสมัยของ Italian Futurism ในยุคก่อน ไปจนถึงสุนทรียะภาพของความไม่สมบูรณ์แบบในปรัชญาและศิลปะญี่ปุ่น เหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อ Scarpa และนำมาซึ่งผลงานอันเปี่ยมด้วยเอกลักษณ์และกลายมาเป็นต้นแบบของหลายนักออกแบบในเวลาต่อมา
5 ผลงานต่อจากนี้เป็นผลงานของ Scarpa ที่เยี่ยมชมได้ง่ายในเมืองและใกล้เมืองเวนิส ซึ่งน่าไปเยือนสักครั้งหากคุณมาถึงเวนิส ไปตามรอยจินตนาการสู่งานออกแบบชิ้นมาสเตอร์พีซของ Scarpa กัน
Fondazione Querini Stampalia, 1963
จุดหมายแรกที่ควรค่าแก่การไปเยี่ยมชม คือ Fondazione Querini Stampalia สถาบันทางศิลปะอันเก่าแก่ของเมืองเวนิส อาคารหลังนี้เป็นอาคารอนุรักษ์จากศตวรรษที่ 16 เดิมเป็นบ้านของตระกูล Querini Stampalia หนึ่งในตระกูลคหบดีผู้ก่อร่างสร้างเมืองเวนิสก็ว่าได้ โดย Scarpa ได้รับมอบหมายให้เข้าปรับปรุงพื้นที่ในอาคาร 4 ส่วนเป็นหลัก ในระหว่างช่วงปี 1949 – 1961 ได้แก่ สะพานข้ามคลอง ส่วนทางเข้า พื้นที่ชั้นล่างสุด และสวนภายในอาคาร
ในงานนี้ Scarpa ได้แสดงให้เห็นการผสานความเก่าและความใหม่เข้าหากันผ่านองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมต่างๆ ได้อย่างมีชั้นเชิง สะพานซึ่งประกอบขึ้นจากโครงสร้างเหล็ก อันนับว่าเป็นวัสดุแปลกใหม่ในเวลานั้น นอกจากจะทำให้สามารถก่อสร้างได้เร็วแล้ว ยังนำมาซึ่งรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่คดโค้งดูแปลกตาจากวัสดุและเทคนิคการก่อสร้างแบบใหม่ได้อย่างน่าสนใจ (น่าเสียดายว่าปัจจุบันสะพานได้ถูกรื้อถอนและปรับปรุงขึ้นใหม่ เพื่อความแข็งแรงและปลอดภัยเพียงพอ)
สะพานนี้ยังสอดคล้องกับการกำหนดทิศทางเข้าสู่อาคารใหม่ซึ่งพุ่งตรงมาจากจตุรัสกลางเมืองโดยตรง อันต่อมาได้นำไปสู่ส่วนทางเข้าพื้นที่ภายใน พื้นที่ส่วนนี้ออกแบบให้สอดคล้องกับสภาวะน้ำขึ้น-น้ำลงในเมือง โดยอนุญาตให้น้ำไหลเข้าท่วมภายในได้ในเวลาน้ำขึ้นอันเป็นการนำปรากฏการณ์ธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบ การใช้น้ำในงานออกแบบยังพบได้ในงานออกแบบส่วนสุดท้าย คือสวนคอร์ตยาร์ดภายในอาคาร ซึ่งออกแบบให้มีบ่อน้ำกับเส้นทางน้ำไหลผ่านสอดคล้องกับการร้อยเรียงวัสดุและรูปทรงทางเรขาคณิตต่างๆ ภายในอีกด้วย
Sculpture Garden at Giardini della Biennale, 1952
Sculpture Garden เป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุง Italian Pavilion ในพื้นที่ Giardini della Biennale ที่มีมาตั้งแต่ปี 1894 โดย Scarpa ได้ออกแบบพื้นที่คอร์ตยาร์ดนี้เป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะภายนอก และเป็นพื้นที่นั่งพักสำหรับผู้มาเยี่ยมชมสถานที่ ความโดดเด่นของผลงานนี้คือ ผืนหลังคาเรียบแบนรูปทรงแปลกตาลอยเหนือบ่อน้ำ ที่วางแผ่อยู่บนเสาคอนกรีตสีชมพูอมส้มขนาดใหญ่ 3 ต้น อันสร้างให้เกิดสเปซจากการประกอบกันของรูปทรงเรขาคณิตต่าง ๆ ที่น่าสนใจ โดยสเปซโดยรอบนี้ ถูกใช้จัดแสดงงานศิลปะที่จะเวียนไปตามโอกาส และเป็นพื้นที่ที่ผู้คนนิยมมานั่งหย่อนใจด้วย
ในแง่รายละเอียด องค์ประกอบที่โดดเด่นที่สุดอย่างผืนหลังคาได้ถูกคว้านให้มีส่วนเว้าแหว่งเป็นรูปครึ่งวงกลมในจุดต่าง ๆ อันนำมาซึ่งปรากฏการณ์ของแสง-เงาที่ตกกระทบเข้าสู่อาคารที่แปลกตา ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ ยังสัมพันธ์กับบ่อน้ำสี่เหลี่ยมเบื้องล่าง ที่สุดท้ายได้ให้ความรู้สึกสงบ ปนความเคลื่อนไหวโดยตลอดของผู้คนและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ให้กับสถานที่นั่นเอง
Entrance to the Venice University Institute of Architecture, 1966 – 1985
ผลงานเล็ก ๆ แต่ทรงพลังอย่างการปรับปรุงทางเข้ามหาวิทยาลัยด้านสถาปัตยกรรมอย่าง Venice University Institute of Architecture หรือ Università Iuav di Venezia ประกอบด้วยผลงาน 2 ชิ้นเว้นระยะการก่อสร้างกัน ชิ้นแรกเป็นซุ้มประตูส่วนนอกทำจากคอนกรีตพร้อมบานเลื่อนกระจก ดำเนินการในปี 1966 โดดเด่นที่การสำแดงรูปทรงเรขาคณิตที่แข็งแรง พร้อมจุดเด่นบนผนังหนึ่งเป็นประโยคภาษาละตินสลักลงบนแผ่นหินว่า “Verum ipsum factum” แปลได้ว่า “the truth itself is made” หรือถอดความเป็นภาษาไทยว่า “ความจริงแท้เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น” ก็ได้ อันได้ถูกตีความว่าเป็นเหมือนปรัชญาที่แฝงอยู่ในงานของ Scarpa ทุกชิ้น ที่มักสะท้อนสภาวะการเป็นผลผลิตจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งสมทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือก็คือเป็นเพียงการจำลองโลกธรรมชาติ (ที่จริงแท้กว่า) นั่นเอง
ผลงานส่วนที่ 2 ริเริ่มในปี 1972 แต่ถูกต่อยอดให้สำเร็จโดยลูกศิษย์หลัง Scarpa เสียชีวิตลง มีที่มาแปลกตรงที่จุดตั้งต้นของการออกแบบคือการค้นพบซุ้มประตูโบราณทำจากหิน Istrain (อันเป็นหินที่ใช้มากในอาคารเก่าแก่ต่าง ๆ ในเวนิส) ที่เก็บกู้ได้จากวิหาร Tolentino โดย Scarpa ต้องการนำประตูนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของผลงานใหม่ แต่แทนที่จะเอามาตั้งเป็นซุ้มอย่างตรงไปตรงมา เขากลับนำมันมาวางแผ่ไปกับพื้นแล้วจัดแสดงอยู่ภายในพื้นที่สวนก่อนถึงอาคารเหมือนกับเป็นโบราณวัตถุหนึ่ง นอกจากนั้นก็ได้ก่อภายในให้เป็นขั้นเหมือนเป็นซิกกูแรต ซึ่งนอกจากจะแปลกตาแล้ว ผลงานนี้ยังถูกพูดถึงในแง่การตีความการออกแบบ “ทางเข้า” ซึ่งกินความหมายไปไกลกว่าการเป็นเพียงซุ้มประตูธรรมดานั่นเอง
Tomba Brion, 1978
หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของ Scarpa ซึ่งเสร็จสิ้นไม่นาน ในปีเดียวกันกับปีที่เขาเสียชีวิต Tomba Brion เป็นสุสานของตระกูล Brion สร้างขึ้นตามเจตนาของ Onorina Tomasin Brion เพื่อรำลึกถึง Giuseppe Brion สามีของเธอ ตัวผลงานไม่ได้ตั้งอยู่ในเวนิสโดยตรง แต่อยู่ในเขต Treviso เดินทางจากตัวเมืองเวนิสราว 1 ชั่วโมง Scarpa เปรียบเปรยผลงานการออกแบบสุสานของเขาว่า ต้องการให้สถานที่ของผู้ที่จากไปเป็นดั่งสวน ที่ซึ่งจะสามารถตระหนักถึงความตายและช่วงเวลาอันแสนสั้นของชีวิตได้อย่างมีความหมาย ทำให้โดยรวมแล้ว ผลงานชิ้นนี้เป็นสถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ ซึ่งแสดงออกผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจ
Tomba Brion เป็นสุสานขนาดใหญ่เนื้อที่กว่า 2000 ตารางเมตร ก่อสร้างด้วยคอนกรีตและวัสดุต่าง ๆ ผสมผสานกันตามความถนัดของ Scarpa ไม่ว่าจะเป็นกระจก ทองเหลือง ผืนน้ำ ผ่านรูปทรงทางเรขาคณิตมากมาย อันร้อยเรียงเรื่องราวต่าง ๆ ไปตลอดเส้นทางสัญจรในอาคาร ที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์มากที่สุด กล่าวได้ว่าคือช่องเปิดรูปวงแหวนสองวงไขว้กัน (Vesica Piscis) อันสะท้อนถึงการมาพบกันระหว่างสองสิ่ง หรือจะสื่อถึงการได้มาเจอกันระหว่างคู่รักก็ได้เช่นกัน
Entry to the Department of Literature and Philosophy of Ca’ Foscari University of Venice 1976-78
อีกหนึ่งจุดเล็ก ๆ ที่แสดงเอกลักษณ์ของงานออกแบบของ Scarpa ได้อย่างน่าสนใจ คือซุ้มประตูขนาดเล็ก ของคณะวิชา Literature and Philosophy มหาวิทยาลัย Ca’ Foscari University of Venice ที่นี่ Scarpa ได้ออกแบบประตูทางเข้าด้วยการใช้รูปทรงเรขาคณิตแบบซิกกูแรตนำสายตาเข้าสู่ภายในอาคาร เป็นอีกครั้งที่ประตูหรือทางเข้าถูกกระตุ้นด้วยภาพอันแปลกตาชวนตีความ อันเป็นวิธีการแสดงความงามทางสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของฝีมือ Scarpa ก็ว่าได้