วางแผนเยือนเวนิสครานี้จะแวะแค่พิพิธภัณฑ์ศิลปะก็คงจะไม่เต็มอิ่ม ดังนั้นเราจึงขอชวนสำรวจ 3 สถาปัตยกรรมร่วมสมัย 5 แลนมาร์กผลงานศิลปะ ที่เป็นดั่งจุดหมายของผู้คลั่งไคล้ศิลปะและงานออกแบบ
ให้ค่อย ๆ เดินลัดเลาะและกวาดสายตาเพื่อเก็บทุกรายละเอียดของทุกเส้นสายและทุกรูปทรงก่อนส่งต่อเป็นความประทับใจในการเดินทางท่องอิตาลี
Procuratie Vecchie Restoration ออกแบบโดย David Chipperfield Architects
การบูรณะอาคารตัวแทนของประวัติศาสตร์เวนิส ให้เจือกลิ่นอายอดีตในบริบทร่วมสมัย
กาลเวลาที่ขับเคลื่อนไปสู่อนาคตได้กระเตื้องให้การพัฒนาเข้ามาแทนที่อดีต ทว่าโปรเจกต์การบูรณะอาคาร Procuratie Vecchie ที่ตั้งอยู่ ณ Saint Mark’s Square ของเมืองเวนิสตั้งแต่ครึ่งแรกของศตวรรษที่ 16 ได้แสดงให้เห็นถึงการกอบรวมกันระหว่างอดีตและปัจจุบันได้อย่างลงตัว โดยมีงานออกแบบมาช่วยผสานให้เกิดความกลมกลืนแม้อยู่ในบริบทร่วมสมัย
Procuratie Vecchie คือ อาคารที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของ Saint Mark’s Square จตุรัสอันเป็นแลนด์มาร์กของเมืองเวนิส มีพื้นที่ติดกับอาคาร Procuratie Nuove และ Procuratie Nuovissime โดย Procuratie Vecchie เป็นอาคารที่มีอายุมากที่สุดในบรรดาอาคารเหล่านี้ สร้างขึ้นโดยสถาปนิก 3 คน ได้แก่ Mauro Codussi, Bartolomeo Bon และ Jacopo Sansovino เป็นการใช้ภาษาการออกแบบในยุคโบราณร่วมกับความสมัยใหม่ ให้อาคารเป็นตัวกลางระหว่างพื้นที่ของเมืองและพื้นที่ส่วนตัว ความเป็นแบบแผนและความเป็นธรรมชาติ ก่อนนำไปสู่การสร้างอาคาร Procuratie หลังอื่น ๆ ตามมา
พลิกกลับมา ณ ปัจจุบัน บริษัทสถาปนิกจากมิลานอย่าง David Chipperfield Architects ได้เข้ามามีส่วนร่วมในโปรเจกต์การบูรณะอาคาร Procuratie Vecchie แห่งนี้ อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานของบริษัทประกันภัยอย่าง Generali และที่ทำการของมูลนิธิ The Human Safety Net ในห้องใต้หลังคาชั้น 3 ผู้ออกแบบได้พัฒนาไอเดียให้เกิดการกลืนกันระหว่างความเป็นสถาปัตยกรรมกับการตีความเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ใส่ลงไปในทุก ๆ รายละเอียดของการใช้งานอาคาร
เริ่มที่ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 มีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ผ่าน vertical circulation ให้ภายในโปร่งโล่ง จากนั้นปรับเปลี่ยนชั้นที่ 3 ให้เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ เวิร์กสเปซ และพื้นที่จัดอีเวนต์ให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ อีกทั้งยังมีหอประชุมเชื่อมกับ The Human Safety Net ในส่วนของเทคนิคและวัสดุก่อสร้าง สถาปนิกเลือกปรับใช้เทคนิคแบบโบราณและใช้วัสดุจากงานฝีมือ สอดแทรกลงไปที่พื้น ผนัง และฝ้าดาน โดยใช้วัสดุจำพวก pastello, terrazzo, marmorino และ scialbatura รวมไปถึง cocciopesto และ cotto
แม้ความเป็นอดีตจะถูกกลบกลิ่นอายด้วยความร่วมสมัย แต่งานออกแบบกลับสามารถฟื้นฟูอาคาร Procuratie Vecchie ที่เดินทางมาจากศตวรรษที่ 16 แห่งนี้ ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัจจุบันโดยยังรักษาประวัติศาสตร์ของอาคาร ผ่านเทคนิคการออกแบบและการเลือกใช้วัสดุ เพื่อให้อาคาร Procuratie Vecchie ได้พาหวนคืนอดีตในพื้นที่อันเป็นตัวแทนของเมืองเวนิสในอ้อมกอดของความร่วมสมัย
Il Fondaco dei Tedeschi ออกแบบโดย OMA
ห้างสรรพสินค้าที่เผยเนื้อแท้ของอาคาร ในห้วงเวลาซึ่งผลัดเปลี่ยนการใช้งานหลายสมัย
เมื่อล่องเรือผ่าน Grand Canal จะสังเกตเห็น Il Fondaco dei Tedeschi อาคารห้างสรรพสินค้าตรงข้าม fish market เปิดรับให้ผู้มาเยือนทอดน่องข้ามสะพาน Rialto Bridge เข้าสู่ภายใน ได้พินิจความทันสมัยที่อยู่ร่วมกับความเก่าแก่ของอาคารอันมีความทับซ้อนของโครงสร้างและการออกแบบหลากหลายช่วงอายุ ก่อนจะถูกบูรณะให้เป็นห้างสรรพสินค้าตั้งอยู่ริม Grand Canal
เมื่อย้อนประวัติศาสตร์ของอาคาร Il Fondaco dei Tedeschi จะค้นพบกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง การตกแต่ง ไปจนถึงการใช้งาน จุดตั้งต้นแรกเริ่มในปี 1228 ที่อาคารถูกผลัดเปลี่ยนการใช้งานเรื่อยมา ทั้งเป็นสถานีการค้า ด่านศุลกากรสมัยนโปเลียน และทำการไปรษณีย์ในช่วงที่มุสโสลินีขึ้นปกครอง ก่อนจะถูกบูรณะอย่างยิ่งใหญ่ในศตวรรษที่ 20 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการค้าภายใต้ระบอบฟาสซิสต์ ส่งผลให้อาคารแห่งนี้มีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมสไตล์บรูทัลลิสต์ และต่อมาในปี 1930 ได้ถูกสร้างใหม่อีกครั้งด้วยคอนกรีตสมัยใหม่ Fondaco จึงมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ในแง่ของการอนุรักษ์ที่ผ่านกาลเวลามาถึง 5 ศตวรรษ
กระทั่งในปี 2009 ที่อาคารถูกปรับเปลี่ยนการใช้งานให้เป็นห้างสรรพสินค้า โดยได้ OMA บริษัทสถาปัตยกรรมระดับนานาชาติ เข้ามามีบทบาทในการบูรณะเน้นแนวทางการขุดค้นวัตถุเดิมที่มี แล้วปลดปล่อยมุมมองใหม่และเผยเนื้อแท้ของอาคารสู่สายตาผู้มาเยือน โดยใช้ทั้งแนวคิดทางสถาปัตยกรรมร่วมกับเทคโนโลยีเป็นเครื่องช่วย ตั้งแต่เปิดคอร์ตยาร์ดให้แก่คนเดินถนน สร้างพาวิลเลียนที่ชั้นดาดฟ้า เพิ่มระเบียงไม้เพื่อเปิดรับวิวของเมือง เมื่อองค์ประกอบทั้งสองอยู่ร่วมกันกลับกลายเป็นสถานที่พบปะของผู้คนที่สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา มีการติดตั้งลิฟต์ให้คนทั่วไปเข้าถึงอาคารได้ บางส่วนของอาคารที่เคยมีในอดีตถูกดึงกลับมาใช้งานใหม่ในแง่ร่วมสมัย เช่น ผนังและแกลเลอรีถูกรื้อฟื้นให้กลายเป็นจิตรกรรมฝาผนังอีกครั้ง
การปรับเปลี่ยนการใช้งานและโครงสร้างในหลากหลายช่วงอายุสมัย ได้บดบังความถ่องแท้ที่ปรากฏใน Il Fondaco dei Tedeschi อาคารห้างสรรพสินค้าแห่งเวนิส OMA จึงบูรณะและเรียกคืนความเป็นอดีตในบริบทร่วมสมัยของอาคารแห่งนี้ โดยใช้งานออกแบบร่วมกับเทคโนโลยีในการลัดเลาะประวัติศาสตร์เพื่อเผยเนื้อแท้ของอาคาร ให้ผู้มาเยือนได้ท่องกาลเวลาหลากหลายห้วงอย่างแยบยล
Tadao Ando’s Punta Della Dogana Museum Through the Lens of Luca Girardini
พิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ผสานความดั้งเดิม ให้กลืนไปในความร่วมสมัยได้อย่างสุขุม
บริเวณจุดบรรจบกันระหว่าง Grand Canal และ Guidecca Canal ของเวนิส จะปรากฎที่ดินรูปสามเหลี่ยมซึ่งนับว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ มีอาคารผังสามเหลี่ยมอย่าง Punta Della Dogana ตั้งอยู่เป็นจุดดึงดูดสายตา ดึงดูดให้ค้นหาความดั้งเดิมของอาคารที่สอดประสานในความร่วมสมัย
แต่แรกเริ่ม Punta Della Dogana ถูกใช้งานในเชิงอาคารพาณิชย์ ก่อนจะได้รับการออกแบบใหม่เพื่อให้เป็นที่ทำการของกรมศุลกากร ทว่าเมื่อปี 2007 อาคารถูกปรับเปลี่ยนเจ้าของมาเป็น François Pinault และได้มอบหมายให้ Tadao Ando สถาปนิกชาวญี่ปุ่น ได้บูรณะอาคารที่เสื่อมโทรมหลังนี้ เพื่อปรับเปลี่ยนการใช้งานให้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะอันเป็นการผสมผสานความดั้งเดิมของอาคารเข้ากับความเรียบง่าย อิงกับแนวทางการสมดุลระหว่างประวัติศาสตร์ของอาคารกับการใช้เทคโนโลยี
Tadao Ando ได้บูรณะอาคารหลังนี้ให้คืนสู่โครงสร้างเดิมให้อยู่ท่ามกลางความร่วมสมัยได้อย่างกลมกลืน ใจกลางอาคารที่มีลักษณะผังแบบ deep plan ถูกเติมเต็มด้วยลูกบาศก์คอนกรีต สร้างผิวสัมผัสให้เนียนและดูนุ่มนวล แล้วผสมผสานกับวัสดุดั้งเดิมของอาคารอย่างผนังอิฐและโครงไม้ ปรับปรุงฐานรากเพื่อปกป้องอาคารจากความชื้นและกระแสน้ำขึ้น ท้ายที่สุด การบูรณะได้เสร็จสิ้นในปี 2009 กับการผสานประสบการณ์อันสุขุมลงไปภายในตัวอาคาร ให้คนทั่วไปได้สัมผัสกับงานศิลปะ สถาปัตยกรรม และเมืองเวนิสไปพร้อม ๆ กัน ผ่านหน้าต่างรูปพระจันทร์เสี้ยวขนาดใหญ่ โดยมีพื้นที่ภายเป็นห้องจัดแสดง Pinault Collection
จากอาคารพาณิชย์ถูกปรับเปลี่ยนการใช้งานมาเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ที่ให้อารมณ์สุขุมนุ่มลึกจากการผสมผสานระหว่างความดั้งเดิมและความร่วมสมัยของ Punta Della Dogana อาคารผังสามเหลี่ยมที่นำพาประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้คนมาเยือนได้เคลื่อนไหวไปตามอารมณ์ของชิ้นงานศิลปะ
5 แลนด์มาร์กรูปทรงแปลกตา สร้างสรรค์โดย Carlo Scarpa
เมื่อกล่าวถึงสถาปนิกอิตาลีแห่งศตวรรษที่ 20 คงไม่สามารถลืมเลือนชื่อและผลงานของ Carlo Scarpa ไปได้ เพราะด้วยการผสานรูปทรงเราชาคณิตร่วมกับการใช้วัสดุที่น่าสน ได้ขับเน้นให้ผลงานของ Scarpa โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ ดัง 5 แลนด์มาร์กที่จะบอกกล่าวต่อไปนี้
เริ่มที่ Fondazione Querini Stampalia สถาบันทางศิลปะอันเก่าแก่ของเมืองเวนิส เป็นการอนุรักษ์อาคารที่มีอายุช่วงศตวรรษที่ 16 โดย Scarpa ได้หลอมรวมความเก่าและความใหม่เข้าไปในอาคารได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นสะพานซึ่งประกอบขึ้นจากโครงเหล็ก อันเป็นวัสดุแปลกใหม่ในยุคนั้น
ผลงานต่อมาคือ Sculpture Garden at Giardini della Biennale เป็นการปรับปรุง Italian Pavilion ให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะภายนอก และเป็นพื้นที่นั่งพักสำหรับผู้มาเยี่ยมชมสถานที่ อันประกอบโครงสร้างจากรูปทรงเรขาคณิตที่แปลกตา ในขณะที่แลนด์มาร์กที่ 3 คือ การปรับปรุง ทางเข้ามหาวิทยาลัยด้านสถาปัตยกรรม Venice University Institute of Architecture หรือ Università Iuav di Venezia มีทั้งซุ้มประตูรูปทรงเรขาคณิตด้านนอก และซุ้มที่ถูกจัดแสดงให้เป็นเหมือนโบราณวัตถุก่อนถึงอาคาร ในส่วนต่อมาที่นับได้ว่าเป็นผลงานชิ้นเอก คือ Tomba Brion สุสานคอนกรีตที่มีการผสานกับวัสดุอื่น ๆ ตามความปรารถนาของ Scarpa ที่อยากให้สถานที่ของผู้ที่จากไปเป็นดั่งสวน ที่ซึ่งจะสามารถตระหนักถึงความตายและช่วงเวลาอันแสนสั้นของชีวิตได้อย่างมีความหมาย กระทั่งแลนด์มาร์กแห่งสุดท้าย คือ Entry to the Department of Literature and Philosophy of Ca’ Foscari University of Venice เป็นซุ้มประตูรูปทรงเรขาคณิตแบบซิกกูแรต สร้างความโดดเด่นและกลายเป็นจุดนำสายตาเข้าสู่ภายในอาคาร
5 แลนด์มาร์กซึ่งเปี่ยมไปด้วยเบื้องหลังการออกแบบอันสร้างสรรค์จากความคิดที่แหวกกรอบในศตวรรษที่ 20 ของ Carlo Scarpa ถือเป็นหมุดหมายที่ควรค่าแก่การมาสัมผัสด้วยตัวเองเป็นอย่างยิ่ง