มหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ที่จัดขึ้นมานานกว่าร้อยปี โดยมีการจัดงานทุกสองปีที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี จนอาจกล่าวได้ว่า ถ้าพูดถึงโอลิมปิกย่อมนึกถึงกรุงเอเธนส์ แต่หากพูดถึงเทศกาลศิลปะต้องนึกถึงเวนิส
เมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องศิลปะโดยแท้ ด้วยลักษณะของเมืองซึ่งเป็นเมืองท่าอันสำคัญแห่งหนึ่งของยุโรป ความรุ่งเรืองมั่งคั่ง ทั้งทางศิลปะวิทยาการต่าง ๆ จึงถูกสะท้อนผ่านงานออกแบบสถาปัตยกรรม หมู่อาคารบ้านเรือน และร้านค้าต่าง ๆ ที่ล้วนดูสวยงามตระการตา ได้รับการอนุรักษ์ยืนหยัดผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน จนกลายเป็นมนต์ขลังให้แก่เมืองเวนิสนครแห่งสายน้ำแห่งนี้ และเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยว รวมถึงคนรักงานศิลปะทุกแขนงได้มารวมตัวกัน
และสำหรับในปีนี้ เทศกาล The Venice Biennale 2024 ได้กลับมาอีกครั้ง กับความพิเศษและถือเป็นความภาคภูมิใจของศิลปินชาวไทยและศิลปินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการได้รับเกียรติให้เป็นส่วนหนึ่งของศิลปะระดับโลก เวนิส เบียนนาเล่ 2024 กับนิทรรศการที่มีชื่อว่า “นิทรรศการศิลปะ THE SPIRITS OF MARITIME CROSSING : วิญญาณข้ามมหาสุมทร” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักของงาน
บอกเล่าเรื่องราวของความสัมพันธ์ 10,000 กิโลเมตร ของเมืองบางกอกและเวนิส ผ่าน 40 ผลงานศิลปะอันโดดเด่นของ 15 ศิลปินจากภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ภาพวาด ประติมากรรม สื่อผสม และวิดีโอจัดวาง ซึ่งเจาะลึกประเด็นเรื่องการพลัดถิ่น ลัทธิล่าอาณานิคม และการผสมผสานของวัฒนธรรมที่หลากหลายทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเน้นไปที่สัญลักษณ์ของการข้ามน้ำ และการเดินทางทางทะเลเป็นพิเศษ
จัดแสดง ณ Palazzo Smith Mangilli Valmarana ตั้งอยู่ริม Grand Canal หลังจากปิดตัวมายาวนานกว่า 12 ปี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สถานที่แห่งนี้เปิดให้เข้าชมอีกครั้ง เดิมเคยเป็นที่พำนักของกงสุลชาวอังกฤษ Joseph Smith ซึ่งเป็นนักสะสมศิลปะ และเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปินมากมาย อาคารนี้จึงกลายเป็นศูนย์กลางศิลปะ และพื้นที่แลกเปลี่ยนของนักสร้างสรรค์ทั้งหลาย ต่อมาเมื่ออาคารเปลี่ยนมือมาสู่เจ้าของใหม่ Count Giuseppe Mangilli จึงได้ว่าจ้าง Giannantonio Selva ให้ตกแต่งภายในในสไตล์นีโอคลาสสิก และคงสภาพดั้งเดิมมาจนถึงทุกวันนี้ เรียกว่าทั้งเรื่องราวและประวัติศาสตร์ของอาคารได้ช่วยส่งเสริมและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจในศิลปะอยากเข้ามาสัมผัสและเยี่ยมเยือน
สำหรับการสนับสนุนการเดินทางไปเยือนเวนิส ของเหล่าศิลปินในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนโดย มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผสานความร่วมมือครั้งสำคัญจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) บริษัท วัน แบงค็อก โฮลดิ้งส์ จำกัด (One Bangkok) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท กลุ่มเซนทรัล จำกัด (Central Group) มูลนิธิ 100 ต้นสน Fraser & Neave Holdings Bhd (F&NHB) and Fraser and Neave, Limited (F&NL) Saigon Beer-Alcohol-Beverage Corporation (SABECO) บริษัท ช้างอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท แสงโสม จำกัด บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ถัง คอนเทมโพรารี่ อาร์ต จำกัด Generali Life Assurance (Thailand) Plc Richard Koh Fine Art Nova Contemporary Warin Lab Silver lens Gallery Flowers Gallery บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) และเครือข่ายพันธมิตร ทุกภาคส่วน
ผู้สนใจสามารถเดินทางไปเยี่ยมชม “นิทรรศการศิลปะ THE SPIRITS OF MARITIME CROSSING : วิญญาณข้ามมหาสุมทร” ในเทศกาล The Venice Biennale 2024 ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 24 พฤศจิกายน 2567 ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี นอกจากจะได้ท่องเที่ยว ชมความงดงามของเมืองเวนิสแล้ว ยังถือเป็นการไปให้กำลังใจเหล่าศิลปินชาวไทย และศิลปินจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนได้อีกด้วย
BIENNALE ARCHITETTURA
(เทศกาลศิลปะ-สถาปัตยกรรมระดับโลก)
นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ The Venice Biennale คือมหกรรมนิทรรศการศิลปะอันยิ่งใหญ่ระดับโลก นั่นก็คือไม่เพียงแต่นำเสนอผลงานศิลปะ แต่การจัดงานยังได้ผนวกงานแขนงอื่น ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงดนตรี ภาพยนตร์ การเต้นรำ และผลงานสถาปัตยกรรม ซึ่งใช้ชื่อว่า Biennale Architettura โดยเทศกาลศิลปะ-สถาปัตยกรรมระดับโลกนี้ เป็นงานที่จัดสลับปีเว้นปีไปกับเทศกาลศิลปะ จนกลายเป็นเทศกาลสถาปัตยกรรมที่ผู้คนในวงการออกแบบทั่วโลกให้ความสำคัญงานหนึ่ง
เช่นเดียวกับที่ บ้านและสวน ไม่พลาด ในการเดินทางไปเยี่ยมชมเทศกาลศิลปะ-สถาปัตยกรรม มาแล้วถึง 2 ครั้ง ทั้งในปี 2018 และ 2023 โดยได้รวบรวมบรรยากาศมาให้ชมดังนี้
เวนิส เบียนนาเล่ สถาปัตย์ฯ 2018
(Biennale Architettura 2018)
Biennale Architettura 2018 เทศกาลสถาปัตยกรรมยิ่งใหญ่ระดับนานาชาติครั้งที่ 16 ปีนี้ มีสถาปนิกจาก 63 ประเทศทั่วโลก ร่วมจัดแสดงงานร่วมถึงประเทศไทยเราด้วย ในแต่ละปีผู้จัดงานจะมีโจทย์ให้สถาปนิกไปตีความเป็นเนื้อหาที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานออกแบบ ซึ่งใช้ธีมว่า “FREESPACE” หรือ “พื้นที่อิสระ” มีพื้นที่จัดแสดงงานแบ่งเป็น 2 โซน โซนแรกเรียกว่า Giardini สวนสาธารณะที่มีอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรเป็นหลังขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง บางหลังสร้างขึ้นด้วยงบประมาณของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มาแสดงงานศิลปะและสถาปัตยกรรมเป็นประจำทุกปี บรรยากาศการเดินชมงานในโซนนี้จะร่มรื่น เดินเล่นได้เพลิน ๆ
ส่วนอีกโซนคือ Arsenale เป็นโกดังใหญ่ของอู่ต่อเรือ และคลังแสงอายุหลายร้อยปี โกดังมีลักษณะเชื่อมต่อกันเป็นแนวยาว ผู้แสดงงานจัดแสดงผลงานที่ผนังด้านซ้ายและขวาในห้องที่ค่อนข้างมืด จึงมีการใช้แสงสีและเทคนิคต่าง ๆ มาสร้างความน่าสนใจให้นิทรรศการ ความพิเศษของพื้นที่นี้คือ Thailandia Pavillion ซึ่งอยู่ช่วงกลางของโกดัง
สำหรับการแสดงงานของสถาปนิกไทยในปี 2018 นี้ เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
เวนิส เบียนนาเล่ สถาปัตย์ฯ 2023
(Biennale Architettura 2023)
Biennale Architettura 2023 เทศกาลสถาปัตยกรรมยิ่งใหญ่ระดับนานาชาติครั้งที่ 18 นิทรรศการหลักครั้งนี้มาในธีม THE LABORATORY OF THE FUTURE รังสรรค์โดยภัณฑารักษ์ Lesley Lokko สถาปนิก นักวิชาการ และนักประพันธ์ลูกครึ่งสัญชาติกาน่า–สก๊อตติช ที่ตั้งใจฉายสปอตไลต์สู่แอฟริกา ทวีปที่ประกอบด้วยประชากรอายุน้อยที่สุด และความเป็นเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Lokko ตั้งใจให้แอฟริกา และเทศกาลนี้ เป็นเหมือน “เวิร์กชอป” หรือ “แล็บทดลอง” ที่จะชวนให้เราได้สัมผัสประสบการณ์ เพื่อเข้าใจพื้นที่เมืองอื่น ๆ และอนาคตของโลกเราได้มากขึ้น
แบ่งออกเป็น 6 ส่วน มีผู้เข้าร่วม 89 ราย ที่น่าสนใจคือมากกว่าครึ่งมาจากทวีปแอฟริกา หรือเป็นชาวอัฟริกันพลัดถิ่น ครึ่งหนึ่งมาจากสตูดิโอ หรือทีมงานขนาดเล็ก มีไฮไลต์จากพาวิเลียนนานาชาติ อาทิ Denmark และ Greece ที่บอกเล่าเรื่องพัฒนาของเมืองใหญ่ริมน้ำ พาวิเลียนของ Germany นำเสนอแนวคิดความยั่งยืนผ่านการออกแบบจากวัสดุเหลือใช้ หรือพาวิเลียนจาก Latvia Singapore และ France ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องการมีส่วนร่วมของสังคมต่อสถาปัตยกรรม ฯลฯ
อีกไฮไลต์ คือคาร์นิวัลแห่งกิจกรรม การบรรยาย การอภิปราย ภาพยนตร์ และการแสดงที่ยาวนานตลอดหกเดือนนี้ ซึ่งเปิดโอกาสให้เป็นพื้นที่สำหรับการสื่อสาร แลกเปลี่ยนมุมมองจากหลากหลายฝ่าย ไม่ใช่แค่จากสถาปนิก หรือนักออกแบบ แต่ยังเปิดรับความเห็นจากทั้งนักการเมือง กวี ผู้สร้างภาพยนตร์ นักเขียน นักกิจกรรม ผู้นำชุมชน ฯลฯ ที่จะมาร่วมบนเวทีกับสถาปนิก นักวิชาการ และนักศึกษา ด้วยความพยายามที่จะเชื่อมช่องว่างระหว่างสถาปนิกกับผู้คนทั่วไปให้มากขึ้น