เพราะเหตุใด? ศิลปิน นักออกแบบ หรือคนทั่วไปที่ชื่นชอบศิลปะ ควรต้องหาโอกาสเดินทางไปชมมหกรรมศิลปะนานาชาติ Venice Biennale ให้ได้สักครั้งในชีวิต
เพราะเวนิส เบียนนาเล่ ( Venice Biennale ) ไม่ใช่แค่เพียงการรวมกันของนิทรรศการที่คัดสรรมาให้เดินชมเพลิน ๆ แต่คือข้อความที่ได้รับการร้อยเรียงอย่างละเมียดละไม สร้างสรรค์ขึ้นอย่างบรรจง เพื่อให้ทุก ๆ คนได้เห็นว่า โลกใบนี้ยังมีเรื่องราวอีกหลายแง่มุมที่รอให้เราค้นหา รวมถึงประเด็นปัญหาสำคัญต่าง ๆ ที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาโดยศิลปิน เพื่อสร้างการตระหนักรู้และช่วยกันแก้ไข โดยไม่ให้ปัญหาเหล่านั้นถูกเผิกเฉย
การจัดมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ หรือเทศกาลศิลปะนานาชาติ มาจากภาษาอิตาลี แปลว่า “ทุก 2 ปี” ซึ่งได้รับการจัดต่อเนื่องมายาวนานกว่า 130 ปี และในปี ค.ศ.2024 นี้ นับเป็นครั้งที่ 60 แล้ว โดยประวัติของการจัดงานต้องเล่าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นครั้งแรก เพื่อร่วมเฉลิมฉลองการอภิเษกสมรสของกษัตริย์อัลเบอร์โต้ที่ 1 กับพระนางมาร์การิตา ครบ 25 ปี ในปี ค.ศ.1894 ด้วยการปิดเมืองเวนิสทั้งเมือง เพื่อจัดงานในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ.1895 ในชื่อ ‘I Esposizione internazionale d’Arte della Città di Venezia (1st International Art Exhibition of the City of Venice) ซึ่งมีผู้เข้าชมจำนวน มากถึง 224,000 คน ตลอดการจัดงานเลยทีเดียว
1 ปีต่อมา สภาได้ออกกฎหมายให้ใช้ระบบ “เชิญโดยเฉพาะ” โดยสงวนพื้นที่หนึ่งในนิทรรศการสำหรับศิลปินต่างชาติ และยอมรับผลงานของศิลปินอิตาลีที่ไม่ได้รับเชิญตามการคัดเลือกของคณะกรรมการ ซึ่งทำให้นิทรรศการศิลปะแห่งเวเนเซียนี้ได้เริ่มมีความหลากหลาย และเกิดความน่าสนใจที่แตกต่างมากขึ้น อันเป็นรากฐานมาสู่ปัจจุบัน
จนกระทั่งตั้งแต่ปี ค.ศ.1907 เป็นต้นมา หลายประเทศได้ก่อสร้างพาวิเลียนแห่งชาติ เพื่อใช้ในการจัดนิทรรศการ โดยประเทศแรกคือเบลเยียม ก่อสร้างพาวิเลียนในปี ค.ศ. 1910 โดยมีศิลปินมีชื่อเสียงระดับนานาชาติมากมายเข้าร่วมจัดแสดงในพื้นที่แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น Gustav Klimt, Pierre-Auguste Renoir หรือแม้แต่ Jean Désiré Gustave Courbet และผลงานของ Pablo Ruiz Picasso ในชื่อ “Family of Saltimbanques” ที่นำออกจากพาวิเลียนของสเปนใน Palazzo กลาง เนื่องจากกลัวว่าแนวคิดอันสดใหม่จนเกินไปของผลงานจะสร้างความคับข้องใจแก่ผู้ชม จนถึงปี ค.ศ.1914 มีการสร้างพาวิเลียนจำนวน 7 แห่ง ทั้งที่เบลเยียม (ค.ศ.1907) ฮังการี (ค.ศ.1909) เยอรมนี (ค.ศ. 1909) สหราชอาณาจักร (ค.ศ.1909) ฝรั่งเศส (ค.ศ.1912) และรัสเซีย (ค.ศ.1914)
ต่อมาในปี ค.ศ.1928 ได้มีการก่อตั้งสถาบันประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยขึ้น ในนาม Istituto Storico d’Arte Contemporanea (Historical Institute of Contemporary Art) เพื่อเป็นศูนย์กลางของการรวบรวมเอกสารสำคัญของ Venice Biennale ขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนจะปรับชื่อองค์กรอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1930 เป็น Historical Archive of Contemporary Art
จะเห็นได้ว่าเวนิส เบียนนาเล่ ไม่ได้เป็นแค่มหกรรมการแสดงผลงานศิลปะระดับนานาชาติเพียงเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวโยงไปถึงการแสดงออกถึงประเด็นต่าง ๆ จากหลากหลายประเทศ เช่นในปีนี้ที่พาวิเลียนของอิสราเอลได้เลือกปิดประตูไว้ จนกว่าจะบรรลุข้อตกลงในการปล่อยตัวประกัน และการหยุดยิงในฉนวนกาซา (Ceasefire) ซึ่งจะต้องได้รับการตอบรับจากประเทศอิสราเอลแล้วเท่านั้น ซึ่งนั่นทำให้ชิ้นงานและประเด็นที่แฝงมากับการจัดแสดงเป็นอีกสิ่งที่น่าสนใจ และถูกจับตามองทุกครั้งเมื่อการจัดแสดงมหกรรมศิลปะนานาชาติเวนิส เบียนนาเล่ เวียนมาถึง
Giardini และ Arsenale คือ 2 พื้นที่จัดแสดงหลักของงานเวนิส เบียนนาเล่ โดยพื้นที่แรกที่ต้องกล่าวถึง คือ Giardini หรือในชื่อเต็มว่า Giardini della Biennale หรือ “สวนแห่งงานเบียนนาเล่” พื้นที่แห่งนี้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการเวนิส เบียนนาเล่ มาตั้งแต่ครั้งแรกในปี ค.ศ.1895 เลยทีเดียว
Giardini ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเมืองเวนิส สร้างขึ้นโดยจักรพรรดินโปเลียนในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความสำเร็จของนิทรรศการในครั้งแรก (มีผู้เข้าชมมากกว่า 200,000 คน ในปี ค.ศ.1895 และมากกว่า 300,000 คน ในปี ค.ศ.1899) ทำให้เกิดการสร้างพาวิเลียนให้กับประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1907 ซึ่งถูกเพิ่มเติมเข้าไปจากพาวิเลียนกลางที่ได้สร้างไว้แล้ว ปัจจุบัน Giardini มีพาวิเลียนของประเทศต่าง ๆ ทั้งหมด 29 พาวิเลียน บางส่วนออกแบบโดยสถาปนิกผู้มีชื่อเสียง เช่น พาวิเลียนที่ออสเตรีย โดย Josef Hoffmann พาวิเลียนที่เนเธอแลนด์ โดย Gerrit Thomas Rietveld หรือพาวิเลียนที่ฟินแลนด์ ซึ่งเป็นโครงสร้างสำเร็จรูปรูปสี่เหลี่ยมคางหมู โดย Alvar Aalto พาวิเลียนเหล่านี้ สามารถเยี่ยมชมได้ในช่วงเวลาจัดนิทรรศการเท่านั้น
ถัดมาในพื้นที่จัดแสดงที่ใหม่กว่าอย่าง Arsenale ที่นี่คือโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในเวนิส ก่อสร้างขึ้นในยุคก่อนอุตสาหกรรมของเวนิส และเคยมีคนงานถึง 2,000 คน ทำงานอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ในทุกวัน ที่นี่คือศูนย์กลางการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สร้างกองเรือ Serenissima และเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารของเมืองเวนิสมาโดยตลอด จนกระทั่งปี ค.ศ.1980 Arsenale ได้กลายเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการสถาปัตยกรรมนานาชาติ หรือ Architecture Biennale ครั้งแรก หลังจากนั้นพื้นที่เดียวกันนี้ ยังถูกใช้ในช่วง Art Biennale สำหรับนิทรรศการที่เปิดรับการเสนอเข้ามาอีกด้วย โดยตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 ได้มีการดำเนินโครงการปรับปรุงพื้นที่เพื่อเปิดให้สาธารณชนเข้าเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น พื้นที่ Teatro alle Tese และ Teatro Piccolo Arsenale ในปี ค.ศ.2000, Giardino delle Vergini ในปี ค.ศ.2009, และ Sale d’Armi ในปี ค.ศ.2015
นั่นจึงทำให้เห็นว่า นอกจาก Giardini แล้ว ยังมีพาวิเลียนอื่น ๆ อย่าง Arsenale รวมถึงพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะกระจายตัวอยู่หลายแห่งในเมืองเวนิส รวมถึง Palazzo Smith Mangilli Valmarana สถานที่จัดแสดงงานนิทรรศการของไทย ซึ่งมีชื่อว่า THE SPIRITS OF MARITIME CROSSING : วิญญาณข้ามมหาสมุทร อีกด้วย
สดับฟังให้ถ้วนถี่กว่าที่เคยในศาลาอิตาลี
Due qui/To Hear คือนิทรรศการซึ่งถือว่าเป็นไฮไลต์ที่สุดของพื้นที่ Arsenale คือนิทรรศการที่พาทุกคนร่วมเดินทางผ่านทุกโสตสัมผัสอันจบลงด้วยการ “ฟัง” อย่างที่ไม่เคย “ฟัง” มาก่อนอย่างไรอย่างนั้น
นิทรรศการ Due qui/To Hear จัดขึ้นด้วยการสนับสนุนจากกรมศิลปะร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ประเทศอิตาลี มีการออกแบบทางเข้าสองทาง เคลื่อนผ่านสามพื้นที่ที่สร้างขึ้นรอบ ๆ ประสบการณ์เสียงและงานออกแบบต่าง ๆ โดยแสดงให้เห็นถึงลักษณะการเชื่อมโยงของเสียง ผู้เข้าชมสามารถเข้าไปในห้องที่เกือบว่างเปล่า ก่อนจะได้รับการต้อนรับด้วยประติมากรรมขนาดเล็กของพระโพธิสัตว์ที่กำลังทำท่าครุ่นคิด เสียงต่ำจากท่อออร์แกนสร้างความรู้สึกของเวลาที่หยุดนิ่ง พื้นที่ของการรอคอยในห้องกลาง โครงสร้างท่อขนาดใหญ่ได้เปลี่ยนเป็นออร์แกนเล่นทำนองเพลงที่แต่งโดย Caterina Barbieri และ Kali Malone ผู้เข้าชมสามารถเดินผ่าน และนั่งบนม้านั่งวงกลมได้ จุดที่เปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลาง มีสระน้ำที่คลื่นกำลังขึ้นและลงอย่างต่อเนื่อง กระตุ้นให้เกิดการทำสมาธิ เมื่อออกไปในสวนผู้เข้าชมสามารถฟังเรื่องราวสองเรื่องเกี่ยวกับวงจรการเกิด/ความตาย (และการเกิดใหม่): เรื่องของต้นไม้ (โดย Nicoletta Costa) และเรื่องของมนุษย์ (โดย Tiziano Scarpa) ก่อนที่ผู้ชมจะได้ยินการแสดงเพลงคอรัส (โดย Gavin Bryars) ลำโพงของเสียงเหล่านี้ถูกแขวนอยู่บนกิ่งไม้เพื่อยั่งรากลึกลงไปในจิตใจให้แก่ผู้คน ทำให้ได้ใกล้ชิดกับผู้อื่น และกลับคืนสู่ทุกสรรพสิ่ง
จิตวิญญาณในทุกสรรพสิ่งที่ศาลาญี่ปุ่น
Compose คือชื่อของนิทรรศการโดย Yuko Mohri จัดแสดง ณ Giardini ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับการคัดเลือกโดย Sook-Kyung Lee มีชื่อเสียงในด้านการจัดวางและประติมากรรมที่เน้นเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของ “เหตุการณ์” อันเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม เช่น สถานที่จัดแสดงนี้เต็มไปด้วยเสียง แสง การเคลื่อนไหว กลิ่น และพลวัตรอื่นใด
นิทรรศการนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ที่มักเกิดขึ้น และพบเห็นจนชินตาในการหยุดน้ำรั่ว Moré Moré (Leaky) ภายในสถานีรถไฟใต้ดินของโตเกียว โดยการผสมผสานเสียงของอุปกรณ์ของใช้ในบ้านที่มีอยู่ในเวนิสเพื่อสร้างประติมากรรมเคลื่อนที่ ในโลกที่น้ำท่วมนี้ เหตุการณ์ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเวนิส เมืองที่ประสบกับน้ำท่วมทุก ๆ 50 ปี และครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี ค.ศ.2019 Moré Moré จึงถือเป็นผลงานที่สะท้อนประเด็นต่าง ๆ ที่หลากหลาย ซึ่งสัมพันธ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นในเวนิส และเกิดขึ้นกับโลกใบนี้ไปพร้อมกัน
การเน่าเสียเสื่อมสลายได้สร้างเสียงและแสงโดยการแทรกขั้วไฟฟ้าเข้าไปในผลไม้ และแปลงความชื้นของผลไม้เหล่านั้นเป็นสัญญาณไฟฟ้า สถานะภายในของผลไม้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีผลต่อการปรับแต่งระดับเสียง และความเข้มของแสงจากหลอดไฟ ในขณะที่ผลไม้เหล่านั้นปล่อยกลิ่นหอมหวานไปจนถึงการเน่าเสีย ย่อยสลาย หรือเหี่ยวเฉา ด้วยชื่อที่มีรากศัพท์หมายถึง “การวางรวมกัน (com+pose)” นิทรรศการนี้ ได้ตั้งคำถามสำหรับผู้คนที่จะอยู่ร่วมกันบนโลกที่ต้องเผชิญกับวิกฤตหลายประการอย่างน่าขัน แต่ภายใต้วิกฤตเหล่านั้นกลับนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ ดังเช่นแรงบันดาลใจจากมาตรการการรับมือกับน้ำรั่วของพนักงานรถไฟใต้ดิน
The Spirits Of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร
นอกจาก 2 นิทรรศการหลักที่ยกตัวอย่างข้างต้นแล้ว หนึ่งในนิทรรศการกว่า 300 นิทรรศการ ในมหกรรมศิลปะนานาชาติครั้งนี้ ยังมีนิทรรศการของไทยเราด้วย โดยให้ชื่อว่า “The Spirits Of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร” นิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวของความสัมพันธ์ 10,000 กิโลเมตร ของเมืองบางกอก และเวนิส ผ่าน 40 ผลงานศิลปะอันโดดเด่นของ 15 ศิลปินจากภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ภาพวาด ประติมากรรม สื่อผสม และวิดีโอจัดวาง ซึ่งเจาะลึกประเด็นเรื่องการพลัดถิ่น ลัทธิล่าอาณานิคม และการผสมผสานของวัฒนธรรมที่หลากหลายทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเน้นไปที่สัญลักษณ์ของการข้ามน้ำ และการเดินทางทางทะเลเป็นพิเศษ
ประกอบด้วยศิลปินชื่อดังมากมาย นำโดย มารีน่า อบราโมวิช (เซอร์เบีย สหรัฐอเมริกา) พิเชษฐ กลั่นชื่น (ไทย) ปรียากีธา ดีอา (สิงคโปร์) จิตติ เกษมกิจวัฒนา (ไทย) นักรบ มูลมานัส (ไทย) จอมเปทคุสวิดานันโต (อินโดนีเซีย) บุญโปน โพทิสาน (ลาว) อัลวิน รีอามิลโล (ฟิลิปปินส์) คไวสัมนาง (กัมพูชา) โม สัท (สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า-เนเธอร์แลนด์) จักกาย ศิริบุตร (ไทย) เจือง กง ตึง (เวียดนาม) นที อุตฤทธิ์ (ไทย) กวิตา วัฒนะชยังกูร (ไทย) และ หยี่ อิ-ลาน (มาเลเซีย)
ความพิเศษไม่ใช่แค่ในตัวนิทรรศการเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสถานที่จัดงานอย่าง Palazzo Smith Mangilli Valmarana ซึ่งตั้งอยู่ริม Grand Canal หลังจากปิดตัวมายาวนานกว่า 12 ปี นับเป็นครั้งแรกที่สถานที่แห่งนี้ได้รับการเปิดให้เข้าชมอีกครั้ง ตามประวัติศาสตร์ที่นี่เคยเป็นที่พำนักของกงสุลชาวอังกฤษ Joseph Smith ซึ่งเป็นนักสะสมศิลปะ และเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปินมากมาย อาคารแห่งนี้จึงกลายเป็นศูนย์กลางศิลปะ และพื้นที่แลกเปลี่ยนของนักสร้างสรรค์ทั้งหลายในยุคนั้น ต่อมาเมื่ออาคารเปลี่ยนมือมาสู่เจ้าของใหม่ Count Giuseppe Mangilli จึงได้ว่าจ้าง Giannantonio Selva ให้ตกแต่งภายในในสไตล์นีโอคลาสสิก และคงสภาพดั้งเดิมมาจนถึงทุกวันนี้
ติดตามข่าวสาร และตารางกิจกรรมของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biennale) เพิ่มเติมได้ทาง Facebook และ Instagram : BkkArtBiennale